top of page
รูปภาพนักเขียน Sup053

การปรับตัวในสภาวะวิกฤติต่าง ๆ ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง: : แนวคิดที่สังคมไทยยังให้ความสำคัญน้อยมาก

อัปเดตเมื่อ 8 ม.ค. 2564

ศุภวัฒน์ ปภัสสรากาญจน์



คำว่าพอเพียงมักนำมาใช้เปรียบเปรยเพื่อแสดงให้ถึงการดำเนินชีวิตของผู้ที่ต้องการให้ผู้อื่นได้เห็นหรือแสดงความรู้สึกต่อตนเองมากกว่าที่จะนำมาใช้อย่างจริงจังโดยเฉพาะผู้ซึ่งมีความด้อยสมรรถนะด้านความสามารถและสมรรถนะทางการเงินหรือการด้อยสมรรถนะในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่ต้องการ แต่ถ้าหากจะพิจารณาถึงการนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ของกลุ่มคนที่ประสบความสำเร็จ จะพบว่า แนวคิดไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแต่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างหลากหลายของกลุ่มทางสังคม

เศรษฐกิจพอเพียง มีรากฐานจากแนวความคิดการสร้างความสามารถของการพึ่งพาตนเองได้และไม่ได้หยุดอยู่เพียงเท่านั้น แนวความคิดยังได้พัฒนาไปสู่การพัฒนาตนเองเพื่อให้เกิดความสามารถในการดำรงชีวิตที่ดีและยั่งยืนตลอดไป (Wellbeing Sustainable) ซ้ำยังนำไปสู่การนำเทคโนโลยีพื้นฐานมาสร้างนวัตกรรมที่สามารถเข้าถึง แตะต้องได้และเห็นเป็นรูปธรรม ตามศักยภาพของคนในแต่ละระดับ แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่การสร้างความสำเร็จถึงระดับหนึ่งแล้วพอหรือหยุด เนื่องจากพื้นฐานแนวคิดวางแนวทางของกิจกรรมใด ๆ ที่ต้องกระทำด้วยความคิดสร้างสรรค์อยู่เสมอและต้องทำออกมาให้เป็นรูปธรรมเพื่อพัฒนาสิ่งใหม่อยู่เสมอ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้แก่ชีวิตอย่างสมดุล เนื่องจากการคิดการสร้างสรรค์คือการพัฒนาตัวผู้ดำเนินกิจกรรม ให้มีความรู้ มีศักยภาพและมีการพัฒนานวัตกรรมในสิ่งที่ได้ทำอยู่ให้เกิดขึ้นไม่มากก็น้อย

นอกจากนั้น แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงยังมาจากพื้นฐานของสิ่งสำคัญประการหนึ่งคือ การสร้างความสัมพันธ์และการสร้างเครือข่ายเพื่อให้เกิดความช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เพื่อให้งานหรือกิจกรรมด้านอาชีพเกิดการพัฒนาไปข้างหน้า (Network หรือการสร้าง Connection) จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การช่วยเหลือซึ่งกันและกันจนทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถนำมาใช้ในกิจกรรมที่ทำจนเกิดนวัตกรรมขึ้นมา ทั้งหมดนี่คือความยั่งยืนไม่มีที่สิ้นสุดบนพื้นฐานความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคม


มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่า แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวคิดที่เป็นไปไม่ได้และเป็นยูโทเปีย ทำให้แนวคิดยังได้รับความสนใจเฉพาะกลุ่มและยังมีการยอมรับอยู่น้อยมาก อย่างไรก็ตาม แนวคิดได้ถูกซึมซับเข้าไปอยู่ในทุกกลุ่มทางสังคม ทั้งนี้มีคำถามและข้อสงสัยว่า ผู้ที่นำเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้จะสามารถสะสมทุนจนมีฐานะทางเศรษฐกิจได้หรือไม่ (หมายความว่า สามารถร่ำรวยได้หรือไม่) คำตอบคือได้ แต่ก็มักจะถูกตั้งข้อสังเกตุว่า เศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวคิดของคนจนหรือผู้ที่ไม่ได้ร่ำรวยและมักนำมาใช้ในภาคการเกษตรเท่านั้น ทำให้เกิดความคิดที่ว่า เศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวคิดที่นำมาใช้เป็นเครื่องมือในการกดทับกลุ่มคนชั้นล่างไม่ให้เงยหน้าอ้าปากได้ โดยเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ในทางตรงกันข้าม แนวคิดนี้เหมาะสมกับการประยุกต์ใช้ทุกระดับชั้นทางสังคม เหมาะสมกับผู้ที่เริ่มต้นกิจกรรมอาชีพ และเหมาะสมกับการทำกิจกรรมการดำรงชีวิต และสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจการบริการและอื่น ๆ รวมทั้งธุรกิจออนไลน์ด้วย

หลักการของแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง สอดคล้องกับหลักการบริหารจัดการซึ่งพอสรุปได้ดังนี้ (กลุ่มพัฒนากรอบแนวคิดทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง, 2530, ศุภวัฒน์ ปภัสสรากาญจน์, 2556)


ประการแรก หลักความพอประมาณคือ หลักประสิทธิภาพของการบริหารและจัดการทรัพยากร ในสถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งนี้ รวมถึงการนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น การผลิตผลผลิตจากประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร การบำบัดของเสียเพื่อนำมาใช้ใหม่ การนำของที่ใช้แล้วกลับมาใช้ซ้ำ เป็นต้น

ประการที่สอง ความมีเหตุผลหมายถึง หลักการกำหนดกรอบในการตัดสินใจตามความผันผวนของปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งในระดับจุลภาคและระดับมหภาค

ประการที่สาม ภูมิคุ้มกันหมายถึง หลักการตัดสินใจภายใต้การบริหารความเสี่ยงหรือความไม่แน่นอนซึ่งต้องมีความรู้ความเข้าใจในการกระจาย,การลด,การประกันและการรองรับความเสี่ยงเพื่อบรร เทาผลกระทบจากความผันผวนด้านเศรษฐกิจและผลกระทบทางสังคม ภูมิคุ้นกันนี้ยังหมายรวมถึงการ

ดำรงตนในทางสายกลางซึ่งได้แก่ การรับรู้ถึงสถานะภาพตนเอง โอกาสที่จะดำเนินกิจกรรมต่อไปเพื่อ

กำหนดเป้าหมายในระดับที่ยอมรับได้และมีการกำหนดความสามารถสู่ผลสำเร็จในระดับที่เหมาะสมและมีโอกาสในการพัฒนากิจกรรมด้านธุรกิจของตนเองได้ในอนาคต

ประการที่สี่ การแสวงหาความรู้ในทุก ๆ ด้านที่จำเป็นเพื่อนำไปสู่เหตุผลของประสิทธิภาพใน

การใช้ทรัพยากร และเหตุผลในการตัดสินใจเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันตนเอง (หรือเรียกว่าความไม่ประมาทต่อความเสี่ยงต่าง ๆ ภายใต้สภาพแวดล้อมทั้งในปัจจุบันและอนาคต) ภายใต้คุณธรรมที่มีอยู่เพื่อการดำรงชีวิต ซึ่งหมายถึงการประยุกต์ใช้แนวคิดต่อกิจกรรมใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมด้านธุรกิจ อุตสาหกรรม รวมทั้งกิจกรรมด้านการเกษตร จากการแสวงหาประสบการณ์ ความรู้ ทักษะการทำงาน การตลาดและด้านอื่น ๆ ทั้งนี้ รวมถึงการนำเทคโนโลยีพื้นฐานมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ด้วยอาจมาจากการปฏิสัมพันธ์ การแลกเปลี่ยนความรู้ที่พึงมีพึงได้อย่างตรงไปตรงมา ซื่อสัตย์บริสุทธ์ไม่มีอะไรแอบแฝง การมีคุณธรรมจึงมาจากการที่ผู้ทำกิจกรรมในการดำรงชีวิตต้องไม่ปล่อยให้อคติส่วนตัวชี้นำสู่ค่านิยมตามอย่างซึ่งจะทำให้เกิดทัศนคติและเกิดความรู้สึกอยากจะเป็นเช่นเดียวกับผู้อื่นโดยไม่ยอมรับความแตกต่างด้านความสามารถและความแตกต่างด้านสถานภาพขั้นปฐม ทำให้เกิดการข้ามขั้นหรือข้ามกระบวนการของกิจกรรมการดำรงชีวิตซึ่งอาจนำไปสู่การไร้ซึ่งคุณธรรม (เช่น การทุริจตคอรัปชั่น การเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น เป็นต้น) ดังนั้น ความรู้คู่คุณธรรมจึงเป็นการแสวงหาความรู้ ทักษะ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และการยอมรับสิ่งดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า แนวคิดเชื่อในความเท่าเทียมกันของเป้าหมายและผลลัพธ์ของกิจกรรมว่าสามารถบรรลุได้เท่าเทียมกันหากผู้ทำมีความตั้งใจจริงที่จะทำด้วยความพยายาม


กรณีศึกษาจากงานศึกษาเรื่อง " การประเมินความต้องการจำเป็นของชุมชนเพื่อการพัฒนาความสามารถต่อการเพิ่มมูลค่าวิสาหกิจการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของจังหวัดนครนายก" (2561; อ่านรายละเอียดได้ในเว็บไซด์นี้) ชี้ให้เห็นถึงการประยุกต์แนวคิดมาพัฒนากิจกรรมอาชีพได้อย่างมั่นคง และสะท้อนถึงหลักการต่าง ๆ ข้างต้นทั้ง 4 ประการ


ตัวอย่างของกรณีศึกษา ได้แก่ การทำนาปลูกข้าว ในพื้นที่ชนบทซึ่งทำเป็นปกติธรรมดาในหลายพื้นที่ เจ้าของกิจกรรมการทำนาปลูกข้าว สามารถพัฒนากิจกรรมเชิงเดี่ยวไปสู่ความหลากหลายของกิจกรรมอาชีพและงานเพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเองจนมีผลต่อการสร้างรายได้แก่ผู้อื่นด้วย ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม ทั้งนี้ อาจจะไม่มีเจตนาโดยตรงที่จะตั้งเป้าหมายดังกล่าว (กิจกรรมการเกษตรจะทำกิจกรรมภายใต้แนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งเป็นการนำพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นกลไก)













ที่มา: เกษตรกรเสาร์-อาทิตย์, Facebook, 2020



ที่มา: ศูนย์เรียนรู้เพื่อการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ (NCLC), 2563

ในรูปแบบเดียวกันของทุ่งนามุ้ยและภูกะเหรี่ยงจังหวัดนครนายก ศูนย์เรียนรู้เพื่อการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ (NCLC) อำเภอด่านช้างจังหวัดสุพรรณบุรี และรวมถึงชุมชนบุ้งเข้ จังหวัดนครนายก ได้แสดงถึงกิจกรรมการดำรงชีวิตที่ทำให้เกิดผลลัพธ์ของการกระจายประโยชน์สู่ภาคสังคมรอบอย่างไม่ได้ตั้งใจ ทั้งนี้ เป้าหมายดังกล่าวไม่ได้กำหนดให้อยู่ในเป้าหมายสำคัญของการสร้างกิจกรรมนั้น ๆ ขึ้นมา ตัวอย่างเช่น การปลูกข้าวที่ไม่ใช้สารเคมี นอกจากจะทำให้ได้ความสวยงามแล้วยังทำให้เกิดกิจกรรมการท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนที่ปลอดภัย นอกจากนั้น ยังจะได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรรอบข้างที่เข้ามาร่วมมือเติมเต็มความสมบูรณ์ของกิจกรรมดังกล่าว (เกิดเมื่อสังคมมองเห็นถึงการได้รับประโยชน์จากกิจกรรมที่ได้เข้ามามีส่วนร่วม)

ในส่วนภาคธุรกิจอื่น ๆ จะเห็นถึงความพยายามต่อประยุกต์แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นแนวปฏิติ แม้ยังคงมีความเข้าใจที่ยังไม่ลึกซื้งมากนัก (แนวคิดมีพื้นฐานตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้นและอาจ

จะศึกษาเพิ่มเติมจากงานวิจัยหลาย ๆ เรื่องที่มีการศึกษาการประยุกต์ใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงในภาคธุรกิจ)

โดยสรุป แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงแม้ว่าจะยังมีการยอมรับกันอยู่น้อยมาก แต่ในการนำเสนอบทความนี้ ผู้เขียนมีจุดประสงค์เพื่อแสดงให้เห็นถึงแนวคิดที่สามารถนำไปประยุกต์ได้อย่างกว้างขวางไม่ว่าจะเป็นด้านการเกษตรหรือด้านธุรกิจอุตสาหกรรม ทั้งอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีระดับพื้นฐานถึงอุตสาหกรรมที่มีระดับเทคโนโลยีที่สูง รวมทั้งธุรกิจด้านการผลิตและการบริการ ดังนั้น แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นกลไกในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในสภาวะวิกฤติของสภาพเศรษฐกิจและสังคม

อ้างอิง

กลุ่มพัฒนากรอบแนวคิดทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง,2552.รรณกรรม

ปริทัศน์-ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง.กรอบแนวคิดทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ปรัชญาของ

เศรษฐกิจพอเพียง .

เกษตรเสาร์อาทิตย์, 2563. https://www.facebook.com/เกษตรเสาร์-อาทิตย์.

ศุภวัฒน์ ปภัสสรากาญจน์. 2556. การพัฒนาตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง.เอกสารประกอบการสอน.

เอกสารรวบรวมเย็บเล่ม. มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต.

ศุภวัฒน์ ปภัสสรากาญจน์, 2562. การประเมินความต้องการจำเป็นของชุมชนเพื่อการพัฒนาความ

สามารถต่อการเพิ่มมูลค่าวิสาหกิจการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของจังหวัดนครนายก. มหาวิทยาลัย

สวนดุสิต.

ดู 116 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

รายงานโครงการต่าง ๆ ของวันที่ 10 มกราคม 2564

นักศึกษาสามารถแนบโครงการต่าง ๆ โดยมีรายละเอียดดังนี้ 1. รายละเอียดของกลุ่มงาน ชื่อ-รหัส ทุกคน 2. การอธิบายโดยสรุปย่อประเด็นสำคัญ ๆ 3. ...

เอกสารที่ใช้สำหรับการศึกษาเพื่อตอบคำถามใน Final Examination

1. นักศึกษาควรศึกษาเอกสารการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ก่อนตอบประเด็นคำถาม เอกสารการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ กล่าวถึงประเด็นต่าง ๆ...

ขีดความสามารถกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

เอกสาร ขีดความสารมารถกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาขีดความสามารถเป็นเรื่องของการพัฒนาคนให้เกิดความสามารถในงานให้เต็มความสามารถ...

Comments


bottom of page